รู้เท่าทัน ป้องกัน ลดเสี่ยงเป็นโรคเอดส์

Photo of author

By adminteam

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าผิดว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยโรคเอด์ เป็นโรคเดียวกัน จริงๆ แล้วผู้ที่ได้รับเชื้อเชื้อเอชไอวี ระยะแรกจะยังไม่เป็นโรคเอดส์จนผู้ติดเชื้อไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง จนผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ จึงจะเรียกว่า ผู้ป่วยโรคเอดส์

โรคเอดส์

เนื้อหาตามหัวข้อ

โรคเอดส์คืออะไร?

โรคเอดส์ (AIDS หรือ Acquired Immune Deficiency Syndromes)

      A = Acquired    หมายถึง สภาวะที่เกิดขึ้นมาภายหลัง ไม่ได้มีมาแต่กำเนิด   
    I = Immune     หมายถึง ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานของร่างกาย
      D = Deficiency  หมายถึง ความเสื่อมลง
     S = Syndrome   หมายถึง กลุ่มอาการ หรืออาการหลาย ๆ อย่างไม่เฉพาะระบบใดระบบหนึ่ง

โรคเอดส์  คือ กลุ่มอาการของโรคฉวยโอกาส เกิดจากการที่ร่างกายติดเชื้อไวรัสเอชไอวี เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อเข้าไปจนถึงระยะสุดท้ายของการติดเชื้อ เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยมีจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลดลง จนไม่สามารถต่อสู้เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย  ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนที่เรียกว่า โรคติดเชื้อฉวยโอกาส  ซึ่งทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ และอาการอาจจะรุนแรงจนเสียชีวิตในที่สุด

โรคเอดส์ต่างจากการติดเชื้อเอชไอวี อย่างไร?

การติดเชื้อ HIV กับโรคเอดส์ มีความแตกต่างกัน เพราะการติดเชื้อเอชไอวี ไม่ใช่โรคแต่เป็นการที่ร่างกายได้รับไวรัสเอชไอวีเข้าไปนั้นจะยังไม่แสดงอาการรุนแรงในระยะแรก ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้วบางคนอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อเอชไอวี ก็ทำให้ไม่ได้รับการรักษา เป็นผลทำให้การติดเชื้อเอชไอวีจากแรกเข้าสู่ระยะที่สองคือระยะเเพร่เชื้อ และเข้าสู่ระยะที่เริ่มแสดงอาการ เช่น เป็นไข้ ท้องร่วง เป็นงูสวัด ถ้าหากยังไม่ได้รับยาต้านไวรัส ปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายก็จะสูงขึ้นจนไปทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเรียกว่า ระยะเอดส์ หรือ เป็นผู้ป่วยโรคเอดส์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของการติดเชื้อเอชไอวีนั่นเอง

สาเหตุของโรคเอดส์

มาจากการได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ผ่านทางการรับของเหลว เช่น เลือด น้ำนมแม่ น้ำอสุจิ ของเหลวในช่องคลอด โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะได้รับผ่านจากการมีเพศสัมพันธ์ และการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับบุคคลอื่น ทั้งนี้การที่ไวรัสส่งผ่านทางของเหลวทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี สามารถส่งผ่านเชื้อไวรัสจากแม่ไปยังลูกในครรภ์ หรือผ่านทางน้ำนม ได้เช่นกัน 

อาการโรคเอดส์

อาการของโรคเอดส์

อาการโรคเอดส์ระยะเริ่มแรก หรือเรียกระยะเฉียบพลัน

ในระยะแรกนี้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี จะมีอาการไข้ เจ็บคอ ผื่นขึ้น ต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นอาการตอบสนองของร่างกายจากการได้รับเชื้อ

อาการโรคเอดส์ระยะสงบ

ระยะนี้ของโรคเอดส์สามารถกินเวลาเป็น 10 ปี และมีเชื้อเพิ่มขึ้นในปริมาณต่ำ ทำให้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการออกมา แต่สามารถแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ ทำให้ยังคงต้องทานยาต้านเชื้อเพื่อไม่ให้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของโรคเอดส์เร็วเกินไป

อาการระยะสุดท้ายหรือระยะเอดส์

เป็นระยะที่เข้าสู่การเป็นโรคเอดส์ ซึ่งภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยถูกทำลายไปจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ มีเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 น้อยกว่า 200 cumm. และมีความเสี่ยงสูงที่จะติดโรคฉวยโอกาสซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น โรคปอดอักเสบ การติดเชื้อราที่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบในปาก ช่องคลอด ปอด หรือการติดเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายกับตา ก่อเป็นวัณโรค จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้

อาการท้องเสียของคนเป็นเอดส์

จะมีอาการถ่ายเหลว มีน้ำเยอะมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรืออาจมีมูกเลือดปนออกมาด้วยในบางครั้ง อาการท้องเสียมักจะเกิดร่วมกันกับอาการไข้และน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

โรคเอดส์ และการติดเชื้อในกระแสเลือด

เกิดการอักเสบ และติดเชื้อในร่างกายและกระจายสู่กระแสเลือด อาจทำให้เกิดภาวะช็อกและอวัยวะภายในล้มเหลวได้

อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

เมื่อรู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี หรือหากน้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้หลายสัปดาห์ติดต่อกัน ท้องเสียเรื้อรัง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอหรือขาหนีบโต ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรค 

การรักษาโรคเอดส์

การรักษาโรคเอดส์ด้วยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีกับผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องไปตลอดชีวิต เพราะยังไม่มียารักษา ที่สามารถรักษาการติดเชื้อให้หายขาดได้ แต่มีผู้ป่วยโรคเอดส์เพียงไม่กี่รายที่หายจากโรคเอดส์ได้ พบว่าหลังจากหยุดรับยาต้านไวรัสก็ไม่สามารถตรวจเจอเชื้อไวรัสได้อีก ซึ่งปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การรักษาโรคเอดส์สามารถหายขาดได้ เช่น วัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ยากระตุ้นไวรัสเพื่อให้การทำงานของยาต้านไวรัสได้ผลมากขึ้น

ยารักษาโรคเอดส์

ยารักษาโรคเอดส์

ปัจจุบันการรักษาโรคเอดส์ทำได้โดยการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวี โดยใช้สูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีรวมกันตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป ตัวยาจะทำหน้าที่ในการหยุดการแบ่งตัวเพื่อไม่ให้ไวรัสเอชไอวีเพิ่มจำนวน สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มดังนี้

Nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NRTIs) 

มีกลไกลการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส (Reverse Transcriptase enzyme) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ช่วยสร้างสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ให้แก่ไวรัสเอชไอวีเพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนและอาศัยในดีเอ็นเอของมนุษย์ได้ จึงส่งผลทำให้การเชื่อมต่อดีเอ็นเอของไวรัสหยุดชะงัก เชื้อไวรัสจึงไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้ในร่างกายมนุษย์ ยาในกลุ่มนี้ เช่น ทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir หรือ TDF) ซิโดวูดีน หรือเอแซดที (Zidovudine:AZT) และเอ็มไตรซิทาปีน(Emtricitabine: 3TC) เป็นต้น

Non nucleoside reverse transcriptase inhibitors (NNRTIs)

มีกลไกของยากลุ่มนี้จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์รีเวิร์สทรานสคริปเตส เช่นเดียวกับยากลุ่ม NRTIs เช่น เนวิราปีน(Nevirapine: NVP), เอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz: EFV), ริวพิไวรีน (Rilpivirine: RVP)

Protease inhibitors (PIs)

ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส หรือกระบวนการสร้างส่วนประกอบโปรตีนของไวรัสเอชไอวีไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีรอบใหม่ได้ ยาในกลุ่มนี้ เช่น รีโทรนาเวียร์ (Ritonavir) และ โลพินาเวียร์ (Lopinavir) เป็นต้น

ยาเหล่านี้เป็นเพียงยาที่ใช้ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเท่านั้น แต่ไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสให้หมดไปจากร่างกายได้ และมีผลข้างเคียงได้แก่ โลหิตจาง คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นตามผิวหนัง ฯลฯ ดังนั้นการใช้ยาดังกล่าวต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ป้องกันโรคเอดส์

วิธีป้องกันโรคเอดส์ทำได้อย่างไร

การป้องกันโรคเอดส์นั้น สามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่เป็นสาเหตุหลักของการเป็นโรคเอดส์ ซึ่งวิธีการป้องกันดังต่อไปนี้

การใช้ถุงยางอนามัย

เนื่องจากปัจจุบันมีถุงยางอนามัยทั้งแบบของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งใช้ป้องกันได้ทั้งการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางปาก แต่ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนจะมีการสัมผัสกันทั้งของอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก นอกจากนี้ การใช้สารหล่อลื่นร่วมกับถุงยางอนามัยอาจช่วยป้องกันถุงยางอนามัยฉีกขาด และช่วยลดความเสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอดหรือทวารหนักที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อเอชไอวีได้อีกด้วย แต่ควรเลือกสารหล่อลื่นที่มีส่วนประกอบพื้นฐานเป็นน้ำแทนน้ำมัน เนื่องจากสารหล่อลื่นที่ใช้น้ำมันอาจทำให้น้ำยางของถุงยางอนามัยคุณภาพลดลงจนอาจทำให้เกิดการฉีกขาดได้ง่าย

ใช้ยาป้องกันเชื้อเอชไอวี

การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี Pre-Exposure Prophylaxis หรือ PrEP เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหรือยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี โดยการรับประทานยาชนิดนี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และลดความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันได้ 70 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยาชนิดนี้ยังช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อไม่ให้ลุกลามไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้อีกด้วย

ตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การพาคู่นอนและตนเองไปตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่โรงพยาบาลเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ดังนั้น ทั้งผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่รักหรือผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่รักของตนเองก็ตาม ควรไปรับการตรวจปีละครั้ง เพราะการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีผลต่อสุขภาพในระยะยาวและอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชไอวีได้

ตรวจเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์

เพราะเชื้อเอชไอวีสามารถส่งผ่านจากแม่สู่ลูกได้ ซึ่งหากคุณแม่มีเชื้อเอชไอวีขณะตั้งครรภ์ ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีการคลอดที่เหมาะสม และการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไปสู่ลูก โดยหลังจากคลอดแล้ว ลูกน้อยที่เพิ่งคลอดก็ยังคงต้องรับยาต้านเชื้อเอชไอวี ซึ่งยาจะช่วยป้องกันเด็กทารกจากการติดเชื้อเอชไอวีในขณะคลอดได้ นอกจากนี้ การให้เด็กดื่มนมแม่ที่มีเชื้อเอชไอวีอาจทำให้ลูกน้อยติดเชื้อได้ จึงควรให้เด็กดื่มนมผงแทน

หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เชื้อเอชไอวีส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดหรือทวารหนักโดยไม่สวมถุงยางอนามัย และการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ นอกจากนี้ การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ก็อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

หลีกเลี่ยงการใช้เข็มหรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น

เพราะการใช้เข็มฉีดยาอาจนำมาซึ่งเชื้อเอชไอวีและเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อยู่ในเลือดอย่างไวรัสตับอักเสบซีได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ หากต้องการสักหรือเจาะตามร่างกาย ควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดและปราศจากเชื้อเสมอ

วิธีป้องกันการแพร่เชื้อเอชไอวี

หากติดเชื้อเอชไอวีไปแล้ว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับยารักษาควบคุมการแพร่เชื้อ ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน อย่างการใช้ยา PEP หรือ Post-exposure Prophylaxis ซึ่งเป็นการรับประทานยาต้านเอชไอวีร่วมกันหลายตัวภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากได้รับเชื้อ โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการติดเชื้อและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวีได้ รวมทั้งการใช้ยา PrEP ก็สามารถช่วยป้องกันเชื้อลุกลามได้เช่นกัน

อีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้ยาต้านรีโทรไวรัสหลายตัวร่วมกัน (Antiretroviral Therapy: ART) เช่น เนวิราปีน อาบาคาเวียร์ อะทาซานาเวียร์ หรืออินดินาเวียร์ เป็นต้น หากใช้ยาอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดจำนวนของเชื้อเอชไอวีในกระแสเลือดลงไปอยู่ในระดับที่ต่ำมาก จนห้องปฏิบัติการมาตรฐานตรวจไม่พบเชื้อ ซึ่งช่วยให้ผู้ที่ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์มีสุขภาพดีและทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายสู่ผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ด้วย

แม้การใช้ยาบางชนิดอาจช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อเอชไอวีแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ แต่ผู้ป่วยก็ควรป้องกันการแพร่เชื้อโดยใช้วิธีอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้ออย่างการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก พาคู่รักและตนเองไปตรวจหรือรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ปรึกษาคู่รักเกี่ยวกับการใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี และไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม

ข้อดีของชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองที่หลายคนไม่เคยรู้

การตรวจเอชไอวีมีประโยชน์อย่างไร

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • โรคเอดส์ (AIDS : Acquired Immune Deficiency Syndrome) https://www.doctorraksa.com/th-TH/blog/aids.html
  • วามรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคเอดส์ http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_nih/a_nih_1_001c.asp?info_id=901
  • เอดส์ ป้องกันได้ ไม่ยากอย่างที่คิด https://www.pobpad.com/เอดส์-ป้องกันได้-ไม่ยากอ