
เอชไอวี เป็นเชื้อไวรัสที่ร้ายแรงและสามารถทำให้เกิดโรคเอดส์ได้ เป็นโรคที่ยังไม่มีทางรักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมได้ ในปัจจุบัน การรักษาเอชไอวีและโรคเอดส์ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ติดเชื้อสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป
เนื้อหาตามหัวข้อ
เอชไอวี คืออะไร ?
เอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus : HIV) เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคน คือ เซลล์เม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ (CD4 cells) หรือ ทีเซลล์ (T cells) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากการติดเชื้อ เมื่อเชื้อไวรัส HIV ทำลายเม็ดเลือดขาว CD4 จนมีปริมาณไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เอชไอวี คือเชื้อไวรัสที่ ทำให้เกิดโรคเอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome : AIDS) ซึ่งเอชไอวี และโรคเอดส์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่จำเป็นต้องป่วยเป็นโรคเอดส์เสมอไป หากมีการติดเชื้อเอชไอวี เชื้อจะอยู่ในร่างกายตลอดไป ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่ในปัจจุบันจะมียาต้านไวรัส ผู้ติดเชื้อกินยาเร็ว กินยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ สามารถทำให้ผู้ติดเชื้อมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นระยะเวลายาวนาน และช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อไวรัสนี้ไปยังผู้อื่นด้วย

เอชไอวี มีทั้งหมดกี่ระยะ?
เอชไอวีแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ
ระยะเฉียบพลัน (Acute HIV Infectious)
เป็นระยะแรกของการติดเชื้อเอชไอวี เกิดขึ้นระหว่าง 2-4 สัปดาห์หลังจากติดเชื้อ ในระยะนี้ผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะเริ่มมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยตามร่างกาย มีผื่นและปวดหัว อาการเหล่านี้เรียกว่า acute retroviral syndrome หรือ ARS เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ในระยะนี้ เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนอย่างมากในร่างกาย ทำให้เซลล์ CD4 ในร่างกายลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เป็นระยะที่มีความเสี่ยงสูงมากที่ผู้ติดเชื้อจะแพร่กระจายไวรัสไปยังผู้อื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อเอชไอวี
ระยะสงบทางคลินิก (Clinical Latency Stage)
เป็นระยะที่เชื้อไวรัสอยู่ในร่างกายโดยไม่แสดงอาการใดๆ หรืออย่างมากที่สุดคือมีอาการเพียงเล็กน้อย บางครั้งเรียกระยะนี้ว่า ระยะติดเชื้อเรื้อรัง (chronic HIV infection) หรือ ระยะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ (asymptomatic HIV infection) ในระยะนี้ไวรัสจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นในระดับต่ำ และมักจะใช้เวลานานถึง 10 ปี แต่สำหรับผู้ติดเชื้อบางคนอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้น
ระยะสุดท้ายคือ ระยะโรคเอดส์ (AIDS)
เป็นระยะที่การติดเชื้อเอชไอวีได้พัฒนาเป็นโรคเอดส์ ระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมีปริมาณเซลล์ CD4 อยู่ระหว่าง 500 ถึง 1,600 ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเอดส์มี CD4 ต่ำกว่า 200 เมื่อถึงจุดนี้ระบบภูมิคุ้มกันได้ถูกทำลายอย่างรุนแรงจนผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อฉวยโอกาส (opportunistic infections) ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่จะทำให้เกิดโรคกับผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ แต่ไม่ว่าผู้ติดเชื้อมีปริมาณ CD4 เท่าใดก็ตาม หากมีอาการติดเชื้อฉวยโอกาสอย่างใดอย่างหนึ่งหรือมากกว่าถือว่าผุ้ติดเชื้อนั้นเป็นโรคเอดส์
เอชไอวี ติดต่อกันได้อย่างไร ?
- มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือ ทวารหนัก โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ใช้เข็มสัก เข็มเจาะร่างกายร่วมกัน
- โดนเข็มตำ โดยเข็มนั้นมีเลือดที่ติดเชื้อเอชไอวี ปนเปื้อนอยู่
- เลือด น้ำอสุจิ หรือน้ำหล่อลื่นช่องคลอดที่มีเชื้อเอชไอวี ปนอยู่ สัมผัสกับแผลเปิดบนร่างกาย
อาการของเอชไอวีและโรคเอดส์
- ปอดอักเสบ
- อาการซึมเศร้าและอาการทางระบบประสาทอื่นๆ
- ท้องเสียเรื้อรังนานกว่าหนึ่งสัปดาห์
- เหนื่อยผิดปกติ
- อาการไข้ที่กลับมาเป็นซ้ำๆ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว
- มีผื่นตามผิวหนัง ในช่องปาก จมูกและเปลือกตา
- แผลที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศและทวารหนัก
- อาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ รักแร้และขาหนีบ

เอชไอวี ป้องกันได้อย่างไร ?
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น
- ตรวจเลือดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP) ก่อนสัมผัสเชื้อ
- การใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี (Post-Exposure Prophylaxis : PEP) หลังสัมผัสเชื้อ
การรักษาเอชไอวีและโรคเอดส์
ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ให้หายขาดได้ แต่มียาหลายชนิดที่ช่วยรักษาอาการติดเชื้อเอชไอวี ที่ได้รับการรับรองมากกกว่า 25 ชนิด เรียกว่า ยาต้านรีโทรไวรัส (antiretroviral drugs หรือเรียกย่อว่า ARV) ซึ่งทำหน้าที่ ยับยั้งหรือต้านการแบ่งตัวของเชื้อเอชไอวี รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่น ในปัจจุบันวงการแพทย์แนะนำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกคนรับการรักษาด้วย ยา ARV
ขอบคุณข้อมูล : กรมควบคุมโรค, bumrungrad