ถุงยางอนามัยแตก มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งและไม่ได้ระมัดระวังเท่าที่ควร เพราะถุงยางอนามัยเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้คุมกำเนิดและป้องกันโรคอย่างหนึ่ง ถุงยางอนามัยของผู้ชาย จะใช้สวมอวัยวะเพศเมื่อต้องมีกิจกรรมทางเพศกับคู่นอนหรือคนรักของตัวเอง เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ โดยถุงยางอนามัยจะกันไม่ให้อสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง แต่เรื่องสำคัญ คือการสวมถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อ จนคนหลายคนอาจกังวลได้ว่าถ้าเกิดถุงยางอนามัยแตกขึ้นมา จะรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินนี้ได้อย่างไร
เนื้อหาตามหัวข้อ
เพราะอะไรทำไม ถุงยางอนามัยแตก
- เลือกถุงยางอนามัยผิดไซส์ : บางคนเลือกใช้ขนาดที่เล็กเกินไป จนทำให้ตอนสวมไปไม่เหลือพื้นที่บริเวณปลายสุดของถุงยางอนามัย เมื่อมีการหลั่งอสุจิออกมา ก็ไม่มีพื้นที่รองรับทำให้สารคัดหลั่งอัดแน่นอยู่ในถุงยางอนามัย
- ลืมดูวันหมดอายุ : ถุงยางอนามัยที่เก่าเก็บจนหมดอายุ หรือเวลานำมาใช้ก็ไม่ได้สังเกตวันที่ว่าเก่ามากแค่ไหน จึงทำให้ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยลดลง
- เก็บถุงยางไม่ถูกวิธี : ถุงยางอนามัยไม่ควรอยู่ใกล้แสงหรือความร้อน เพราะจะทำให้เสื่อมสภาพได้ หรือแม้แต่กระทั่ง ใครที่เก็บถุงยางไว้ในห้องอับชื้น เช่น ห้องน้ำ ห้องเก็บของ หรือเก็บในที่มีอุณหภูมิร้อนจัดอย่างช่องเก็บของในรถ หรือกระเป๋าเงิน พอนำมาใช้ก็มีโอกาสฉีกขาดได้ง่าย
- หยิบใช้ไม่ระวัง : ถุงยางอนามัยในปัจจุบัน ผลิตออกมาค่อนข้างบางเพื่อช่วยให้ผู้สวมได้รู้สึกถึงอารมณ์ขณะร่วมเพศได้ดียิ่งขึ้น จึงมีโอกาสฉีกขาดได้ง่าย หากระหว่างแกะซองหรือหยิบจับถุงยางอนามัยใช้ฟัน กรรไกร หรือเล็บฉีก
- ใช้เจลหล่อลื่นผิดประเภท : การเลือกใช้เจลหล่อลื่นเข้าช่วยให้กิจกรรมทางเพศราบรื่นมากขึ้น หากเลือกแบบสารหล่อลื่นชนิดน้ำมัน จะทำให้ยางที่เป็นวัสดุของถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ จนทำให้ถุงยางแตกได้ง่าย
- มีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง : การเสียดสีอย่างรุนแรงมีโอกาสทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้ทุกเมื่อ ยิ่งในคู่ที่ไม่ค่อยได้เล้าโลมอารมณ์กันก่อนมีการสอดใส่ สารหล่อลื่นธรรมชาติไม่ว่าจะจากช่องคลอดหรือทวารหนักยังผลิตออกมาไม่เพียงพอ ทำให้มีการสอดใส่ลำบาก เสียดสี และที่สำคัญอาจเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อบริเวณอวัยวะเพศที่มีเพศสัมพันธ์ได้
ถุงยางอนามัยแตก เสี่ยงต่อโรคอะไรบ้าง
แน่นอนว่า หากถุงยางอนามัยแตก ฉีกขาด หลุดรั่ว ย่อมมีความเสี่ยงทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่
- ไวรัสเอชไอวี
- ซิฟิลิส
- หนองในแท้
- หนองในเทียม
- ไวรัสตับอักเสบบี
- ไวรัสตับอักเสบซี
- หูดหงอนไก่
ต้องทำอย่างไรถ้า ถุงยางอนามัยแตก
ถ้ารู้ตัวว่าถุงยางอนามัยแตก จะต้องหยุดกิจกรรมทางเพศทั้งหมดทันที และสำรวจดูว่าถุงยางอนามัยรั่วตรงไหนเพื่อให้แน่ใจว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด โดยมีข้อแนะนำดังนี้
- ฝ่ายหญิง ควรรีบเข้าห้องน้ำและปัสสาวะ หรืออุจจาระในกรณีที่ร่วมเพศทางทวารหนัก เพื่อขับตัวอสุจิที่อาจจะคงค้างอยู่ใกล้ท่อปัสสาวะ แต่ไม่ควรฉีดน้ำหรือสวนล้างเข้าไปด้านในช่องคลอด เพราะจะยิ่งทำให้เชื้อหรืออสุจิเข้าไปข้างในเพิ่มขึ้น ใช้วิธีล้างทำความสะอาดเบาๆ ด้วยน้ำสะอาดภายนอกและบริเวณรอบอวัยวะเพศก็เพียงพอ
- รีบติดต่อแพทย์ทันที เพื่อรับยาคุมฉุกเฉิน หรือยาต้านไวรัสเอชไอวีฉุกเฉิน (PEP) ภายใน 72 ชั่วโมงหลังจากมีความเสี่ยง และควรทานยาต่อเนื่องจนครบ 28 วัน
- กลับไปพบแพทย์ตามนัดอีกครั้ง เพื่อทำการตรวจหาเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด
ไม่อยากให้ถุงยางอนามัยแตก ทำอย่างไรดีล่ะ
ความเสี่ยงเรื่องถุงยางอนามัยแตก จะหมดไป ถ้าทุกคนหันมาใส่ใจในเรื่องการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง การเก็บ การเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศทั้งหมด ศึกษาการวัดขนาดอวัยวะเพศของตัวเองให้เหมาะสมกับไซส์ถุงยางอนามัยที่มีจำหน่ายในปัจจุบัน ที่สำคัญ คือการหัดสังเกตุวันหมดอายุของถุงยางอนามัยที่เลือกใช้ และให้ความสำคัญในการมีเพศสัมพันธ์อย่างมีสติ เช่น
- การแกะถุงยางอนามัยออกจากซองอย่างระมัดระวัง ไม่ใช้เล็บ ฟัน หรือของมีคมใดๆ ไปแกะซองถุงยางอนามัยโดยเด็ดขาด
- เมื่อแกะถุงยางอนามัยออกมาจากซอง ให้ทำการตรวจดูสภาพก่อนใช้งานทุกครั้ง ดูรอยฉีกขาดหรือรอยรั่ว หากมีก็ไม่ควรนำมาใช้ หากเก่าก็ให้เปลี่ยนอันใหม่
- ถุงยางอนามัยออกแบบมาให้ใช้งานได้เพียงครั้งเดียว สวมใส่เพียงชิ้นเดียว ห้ามสวมถุงยางอนามัยสองชั้นโดยเด็ดขาด และไม่ควรใช้ร่วมเพศนานเกินกว่า 30 นาที เพราะการเสียดสีนานๆ มีโอกาสทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้
- สวมถุงยางอนามัยขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวเท่านั้น ใช้มือหนึ่งจับปลายถุงยางอนามัย และใช้อีกมือหนึ่ง รูดม้วนถุงยางอนามัยจนถึงโคนอวัยวะเพศ คลุมถุงยางอนามัยให้พอดีและไล่ฟองอากาศออกไปจนหมด
และสุดท้าย หากพบว่าถุงยางแตก ฉีกขาด หรือหลุดรั่วระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ควรหยุดกิจกรรมทางเพศทันที
จะเห็นได้ว่าข้อดีของการสวมถุงยางอนามัยมีอยู่มากมายจนเกินกว่าที่จะคิดกลัวว่าถุงยางอนามัยจะแตก ฉีกขาดหรือหลุดรั่ว แล้วเลือกไม่ใส่ นั่นเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะการสวมถุงยางอนามัยย่อมจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสเอสไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อย่างแน่นอนครับ