ซิฟิลิสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนมากจะติดระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน โดยจะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือ ร่างกายจะมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตามแขน ตามลำตัว หรือขึ้นพร้อมกันในบริเวณทั้งหมดที่กล่าวมา หากมีอาการดังกล่าวก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาโดยเร็วที่สุด
เนื้อหาตามหัวข้อ
ซิฟิลิส (Syphilis) คืออะไร ?
ซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเทรโพนีมา พัลลิดัม (Treponema pallidum) มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน ชอบบริเวณที่มีความชื้น ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนเชื้อฝังลึกอาจเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
อาการของซิฟิลิส (Syphilis)
การติดเชื้อซิฟิลิสจะมีการดำเนินของโรคเป็นระยะๆ แต่ละระยะจะมีอาการต่างกันไป ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะประกอบไปด้วยระยะที่หนึ่ง (Primary stage) ระยะที่สอง (Secondary stage) ระยะแฝง (Latent stage) และระยะที่สาม (Tertiary stage) อย่างไรก็ตามโรคซิฟิลิสไม่ได้จำเป็นต้องมีลำดับการดำเนินโรคตามที่กล่าวเสมอไป อาจมีการสลับ หรือมีระยะทับซ้อนกันได้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสบางคนอาจได้รับเชื้อไปเป็นระยะเวลานานหลายปีโดยไม่ได้รู้ตัวเลยก็เป็นได้
ซิฟิลิสระยะที่หนึ่ง (Primary Syphilis)
ซิฟิลิสมักจะแสดงอาการเริ่มต้นจากการมีแผลเล็กๆ ที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) โดยแผลริมแข็งจะเกิดขึ้นหลังจากเชื้อ แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายประมาณ 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ชายแผลริมแข็งมักจะเกิดในบริเวณปลาย หรือลำอวัยวะเพศในผู้ป่วยบางราย อาจไม่ทันสังเกต หรือไม่รู้ตัวว่ามีแผลเกิดขึ้น เนื่องจากแผลนี้จะไม่มีอาการปวด และแผลอาจซ่อนอยู่ภายในช่องคลอด หรือทวารหนัก จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อซิฟิลิสได้แผลริมแข็งนี้โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว แต่ก็มีบางส่วนที่มีแผลหลายตำแหน่ง โดยแผลริมแข็งจะสามารถหายเองได้ภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แม้ไม่ได้ทำการรักษาใดๆ ก็ตาม
โรคซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary Syphilis)
หลังจากที่แผลริมแข็งหายไปไม่นาน ผู้ป่วยซิฟิลิสอาจมีผื่นขึ้นได้ ผื่นนี้มักจะขึ้นบริเวณลำตัว แต่ก็สามารถกระจายไปทั่วร่างกาย รวมถึงมีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าได้เช่นเดียวกัน หรือบางครั้งอาจมีแผลนูนบริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย โดยปกติผื่นจากซิฟิลิสจะไม่มีอาการคัน แต่อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้
- อาการปวดกล้ามเนื้อ
- ไข้
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
อาการต่างๆ เหล่านี้สามารถหายไปเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้เช่นเดียวกัน
โรคซิฟิลิสระยะแฝง (Latent Stage)
หากไม่ได้รักษา ซิฟิลิสระยะที่สอง (Secondary stage) สามารถดำเนินต่อไปเป็นระยะแฝง (Latent stage) ได้ ในระยะแฝงผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดงใดๆ ที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อซิฟิลิสเลย โดยระยะแฝงนี้อาจกินระยะเวลาได้นานเป็นปี
โรคซิฟิลิสระยะสาม (Tertiary stage)
ซิฟิลิสระยะแฝง (Latent stage) อาจมีการดำเนินโรคต่อเนื่องไปสู่ระยะสาม (Tertiary stage) โดยมีอัตราส่วนผู้ติดเชื้อประมาณ 15-30 % จากผู้ติดเชื้อที่ไม่ได้ทำการรักษาทั้งหมดจะพัฒนามาสู่ระยะนี้ อาการของซิฟิลิสระยะที่สาม การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อสมอง ระบบประสาท ตา หัวใจ เส้นเลือด ตับ หรือกระดูกและข้อต่อ ซึ่งอาการต่างๆ เหล่านี้ จะเกิดขึ้นหลายปีหลังจากติดเชื้อแต่ไม่ได้รักษา
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคซิฟิลิส
- การจะพิสูจน์ว่าเป็นซิฟิลิสหรือไม่ สามารถทำโดยนำน้ำเหลืองจากแผล หรือผื่นที่ปรากฏบนตัวผู้ป่วยไปส่องกล้อง เพื่อหาตัวเชื้อโรค หรืออาจจะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาภูมิต่อเชื้อซิฟิลิสก็ได้
- ตรวจเลือดหลังจากติดเชื้อไปแล้ว ร่างกายจะสร้างโปรตีนขึ้นมาทำให้สามารถตรวจได้ แม้ให้การรักษาครบไปแล้วก็ยังสามารถตรวจพบได้นานเป็นเดือนๆ หรือเป็นปีๆ
การป้องซิฟิลิส (Syphilis)
แม้ว่าการรักษาซิฟิลิสจะสามารถป้องกันการเกิดผลกระทบที่ตามมาภายหลังได้ แต่อาการหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ไม่สามารถย้อนกลับได้ ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตั้งแต่แรก โดยมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- งดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์เฉพาะสามี-ภรรยา / คู่นอนของตนเองคนเดียวเท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือยาเสพติด (การดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมา หรือการใช้ยาเสพติดต่างๆ มีผลทำให้ขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ และอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันได้)
การรักษาซิฟิลิส (Syphilis)
ซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ ถ้าได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่น ๆ หากพบว่าการติดเชื้อของผู้ป่วยอยู่ในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จะสามารถหยุดการลุกลามของโรคได้ด้วยการฉีดยาเพนิซิลลินเพียง 1 เข็ม แต่ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี อาจต้องรับการยาฉีดชนิดนี้มากขึ้นอีกเมื่อพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์ก็จะเสนอการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่น ๆ
ขอบตุณข้อมูลจาก : siphhospital samitivejhospital paolohospital