การตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อกำหนดที่ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศทุกคน ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกไม่อาจเลี่ยงได้ และสำหรับผู้ที่กำลังจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าท่านจะเดินทางไปทำงานที่ประเทศไหน การตรวจร่างกายก่อนออกเดินทางถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ เป็นการยืนยันว่ามีสุขภาพโดยรวมที่ดี และไม่เป็นโรคต้องห้ามสำหรับบางประเทศ และบางลักษณะงาน และยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคที่อาจเกิดระหว่างทำงานในต่างแดนได้
เนื้อหาตามหัวข้อ
ความสำคัญของการตรวจสุขภาพก่อนไปทำงานต่างประเทศ
การไปทำงาน หรือเพื่อศึกษาต่อต่างประเทศ เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำหรับหลายๆ คน เนื่องจากมีค่าตอบแทนที่น่าพอใจ และอัตราการจ้างงานสูง เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญในการเดินทางไปต่างประเทศก็คือ เรื่องสุขภาพ เมื่อไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองก็อาจจะทำให้การเดินทาง และการใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนั้นๆ มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ข้อสำคัญที่สุด คือ ควรที่จะต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่สนใจจะเดินทางไปมีโรคต้องห้ามใดๆอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ตรงกับโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของประเทศนั้นๆ เพราะการเดินทางไปยังต่างประเทศหรือต่างถิ่นที่อยู่ไกลๆ อาจมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพต่างๆ ที่ไม่คาดคิดได้
ซึ่งการไปทำงานต่างประเทศนั้น ๆ โดยวิธีการที่ไปนั้นไม่ว่าจะไปกับบริษัทจัดหางานจัดส่งไป, กรมการจัดหางานจัดส่งไป, ติดต่อหางานได้ด้วยตัวเอง เป็นต้น
ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นคือ การตรวจสุขภาพ หรือตรวจโรคก่อนไปทำงานยัง ประเทศนั้นๆ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สำหรับวัตถุประสงค์ของการตรวจสุขภาพก่อนไปทำงานต่างประเทศมีดังนี้
- เป็นการตรวจความพร้อมด้านสุขภาพก่อนที่เราจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศนั้น โดยการตรวจสุขภาพจะทำให้ทราบว่าตัวเราเอง มีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ และสามารถช่วยประเมินความเสี่ยงทางด้านภาวะสุขภาพของเราได้ เช่น ทำให้ทราบว่าเรามีสุขภาพแข็งแรงพร้อมสำหรับการทำงานหรือไม่ เพราะหากสุขภาพไม่พร้อมย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องไปอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ซึ่งหากเกิดการล้มป่วยหรือบาดเจ็บย่อมเป็นอุปสรรคต่อการทำงานอย่างแน่นอน และที่สำคัญนายจ้างก็คงไม่อยากต้องมานั่งรับผิดชอบดูแลหากเราเกิดการเจ็บป่วยระหว่างที่ทำงาน เป็นต้น หากมีอุปสรรคด้านสุขภาพ จะได้คิดวางแผนการชีวิตที่เหมาะสมต่อไป
- สำหรับบางประเทศการมีโรคประจำตัวจะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน โดยเฉพาะหากงานที่ต้องทำนั้นเป็นงานที่ค่อนข้างใช้แรงงาน การมีโรคประจำตัวอาจจะส่งผลให้อาการกำเริบรุนแรง เมื่อใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ดังนั้นหากตรวจพบว่าบุคคลนั้นมีโรคประจำตัวอาจจะส่งผลต่อการไปทำงานได้ สำหรับโรคต้องห้ามของการตรวจสุขภาพไปต่างประเทศส่วนใหญ่ จะประกอบไปด้วยโรควัณโรค โรคปอด ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส และโรคเอดส์ หรืออาจจะเป็นโรคต้องห้ามอื่น ๆ ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเงื่อนไขของแต่ละประเทศ หากไม่เป็นโรคต้องห้ามใด ๆ ที่กำหนดไว้ ก็มีสิทธิ์เข้าไปทำงานในประเทศ นั้น ๆ ได้
ต้องตรวจอะไรบ้างก่อนไปทำงานต่างประเทศ
- ขั้นตอนการตรวจจะคล้ายกับการตรวจร่างกายทั่วไป คือ ชั่งน้ำหนัก, วัดความดัน, วัดส่วนสูง, วัดสายตา ตรวจเลือด, ตรวจปัสสาวะ, ตรวจอุจจาระ, เอ็กซเรย์ปอด และคัดกรองโรคต่างๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
- โรคส่วนมากที่ต่างประเทศเน้นย้ำให้ตรวจก่อนเดินทางไปทำงาน คือโรคติดต่อที่อาจแพร่กระจายได้ เช่น โรคเรื้อน, เท้าช้าง, พยาธิ, โรคปอด, วัณโรคปอด (ในระยะแพร่กระจาย), โรคซิฟิลิส และ HIV/AIDS
การฉีดวัคซีน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกช่วยป้องกันโรคต้องห้ามในแต่ละประเทศ
ในการฉีดวัคซีนสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ คืออีกวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคได้ ตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวัน จำเป็นต้องฉีดวัคซีน หัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) และให้ยาถ่ายพยาธิ
นอกจากนี้ยังมีวัคซีนอีกหลายชนิดที่จำเป็นต้องฉีดหากต้องเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยพิจารณาจากประเทศที่ไป, กิจกรรมหรือลักษณะงานที่ทำและระยะเวลาอยู่อาศัย ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่ม คือ
- วัคซีนที่จำเป็นต้องได้รับก่อนการเดินทาง (Required vaccine) เป็นไปตามกฏอนามัยระหว่างประเทศ (WHO IHR) โดยในปัจจุบันมีเพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนไข้เหลือง ซึ่งผู้ที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศในแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ จำเป็นต้องได้รับวัคซีนนี้ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน
- วัคซีนที่แนะนำให้ใช้ในผู้เดินทางตามความเหมาะสม (Recommended vaccine for travelers) โดยแพทย์จะพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน เช่น ความเสี่ยงในการติดเชื้อในประเทศหรือสถานที่ที่จะไป, ระยะเวลาที่จะไป, กิจกรรมหรือลักษณะงานที่จะไปทำ ตลอดจนต้องพิจารณาถึงตัวผู้เดินทางและตัวโรคด้วย
เอกสารที่ต้องนำมาเมื่อมาตรวจสุขภาพไปต่างประเทศ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ
- สำเนาหนังสือเดินทาง 1 ใบ
- รูปถ่ายสี หรือขาวดำ 1 นิ้วครึ่ง หรือ 2 นิ้ว 2 ใบ (หากต้องการใบรับรองแพทย์มากกว่า 1 ชุด กรุณาเตรียมรูปมาเพิ่ม 1 ใบ/ชุด)
- เขียนข้อมูลเหล่านี้ลงใน สำเนาบัตรประชาชน ให้ชัดเจน
* ประเทศที่จะไปทำงาน
* เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้
* ชื่อบริษัทที่รับทำงาน
ราคาค่าตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ
โปรแกรมตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ จะมีราคาตั้ง แต่ 500 – 1500 บาท
ขึ้นอยู่กับรายละเอียดโปรแกรมตรวจสุขภาพของแต่ละประเทศ
ยกตัวอย่างเช่น
ประเทศ | รายการละเอียดการตรวจ | รายการละเอียดการตรวจ |
ยุโรป | 1. CBC (ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด) | 850 |
2. UA (ตรวจปัสสาวะทั่วไป) | ||
3. STOOL (ตรวจอุจจาระ) | ||
4. VDRL (ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส) | ||
5. HIV (ตรวจโรคเอดส์) | ||
6. .CXR (เอกซเรย์ปอด) | ||
7. ตรวจร่างกายโดยแพทย์ | ||
สหรัฐอเมริกา | 1.CBC (ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด) | 560 |
2.UA (ตรวจปัสสาวะทั่วไป) | ||
3.STOOL (ตรวจอุจจาระ) | ||
4.VDRL (ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส) | ||
5.CXR (เอกซเรย์ปอด) | ||
6.ตรวจร่างกายโดยแพทย์ | ||
เกาหลี | 1.CBC (ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด) | 1500 |
2.Blood group , RH (หมู่เลือด) | ||
3.MALARIA (ตรวจหาเชื้อมาลาเลีย) | ||
4.UA (ตรวจปัสสาวะทั่วไป) | ||
5.STOOL (ตรวจอุจจาระ) | ||
6.HBsAg (ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี) | ||
7.VDRL,TPHA (ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส) | ||
8.CXR (เอกซเรย์ปอด) | ||
9.CHO (ตรวจไขมันโคเลสเตอรอลในเลือด) | ||
10.SGOT,SGPT,GGT (ตรวจการทำงานของตับ) | ||
11.FBS (ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด) | ||
12.ตรวจการได้ยิน | ||
13.วัดสายตา ตรวจตาบอดสี | ||
14.Pregnancy Test ตรวจปัสสาวะหาการตั้งครรภ์ (ผู้หญิง) | ||
15.ตรวจร่างกายโดยแพทย์ |
รวมโรคต้องห้ามในการทำงานในแต่ละประเทศ
ควรที่จะต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่สนใจจะเดินทางไปมีโรคต้องห้ามใดๆอยู่หรือไม่ เพื่อที่จะได้ตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ตรงกับโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของประเทศนั้นๆ
ประเทศไต้หวัน (Taiwan)
- กามโรค (ซิฟิลิส) รวมถึงได้รับการรักษาแล้ว ผล TPHA บวก
- วัณโรค รวมถึงกรณีปอดเป็นจุด ปอดผิดปกติมีแผลเป็นเนื่องจากเคยเป็นและรักษาหายแล้ว
- พยาธิ (ยกเว้นพยาธิในลำไส้จะอนุญาตให้อยู่รักษาในไต้หวันภายในเวลา 1 เดือน)
- โรคเรื้อน
ประเทศฮ่องกง (Hongkong)
- กามโรค (ยกเว้นได้รับการรักษาแล้ว)
- วัณโรค
- ไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคพยาธิ
- การตั้งครรภ์
- โรคอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง
เกาะไซปัน (Saipan)
- โรคเอดส์ (HIV)
- วัณโรค
- โรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ
ประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia), สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates), ประเทศกาตาร์ (Qatar), ประเทศโอมาน (Oman), ประเทศคูเวต (Kuwait) และประเทศบาห์เรน (Bahrain)
1. โรคติดต่อ
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคมาเลเรีย
- โรคเรื้อน
- วัณโรค, ฝีในปอด
- กามโรค เช่น ซิฟิลิส
2. โรคไม่ติดต่อ
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคตับเรื้อรัง
- โรคหัวใจ
- โรคเครียด
- โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้
- โรคมะเร็ง
- โรคจิต, วิกลจริต
- พิการอื่นๆ เช่น ตาบอดสี (สำหรับตำแหน่งพนักงานขับรถ) หูหนวก เป็นต้น
- การตั้งครรภ์ (จะต้องมีการตรวจร่างกายคนงานหญิงทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน)
ประเทศลิเบีย (Libya)
- โรคซิฟิลิส ตรวจโดย VDRL
- โรคเอดส์ (HIV)
- การตรวจอุจจาระ โดยวิธี Stool RIB
- การตรวจปัสสาวะ (Urine)
- วัณโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบทุกประเภท (Hepatitis Virus)
ประเทศสิงค์โปร (Singapore)
- กามโรค (ยกเว้นได้รับการรักษาแล้ว)
- วัณโรคปอด
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคเอดส์ (HIV)
ประเทศกรีซ (Greece)
- โรคเอดส์ (HIV)
- อหิวาตกโรค (Cholera)
- โรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น (Malaria)
ประเทศอิสราเอล (Israel)
- วัณโรค
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคซิฟิลิส
- กามโรค
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคตาบอดสี
ประเทศญี่ปุ่น (Japan)
1. โรคระบาดและโรคติดต่อ
- โรคไข้เลือดออกอีโบล่า (Ebola hemorrhagic fever)
- โรคไข้เลือดออกไครเมียน – คองโก Crimean-Congo haemorrhagic fever (CCHF)
- โรคไข้เลือดออก (Dengue Fever)
- กาฬโรค (Plague)
- โรคมาร์บูร์ก (Marburg virus disease)
- โรคไข้ลัสสา (Lassa virus)
- อหิวาตกโรค (Cholera)
- โรคซาร์ล (Sars)
- โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox)
- โรคมาลาเรียหรือไข้จับสั่น (Malaria)
- โรคไข้เหลือง (Yellow fever)
2. มีปัญหาสุขภาพจิต
ประเทศเกาหลี (Korea)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- โรคเอดส์ (HIV)
- กามโรค เช่น ซิฟิลิส
- วัณโรค
- กระดูกสันหลังคด, นิ้วมือนิ้วเท้าขาด, กระดูกแขนขาโก่ง
- โรคหัวใจทุกชนิด
- โรคคุดทะราด (Treponema pertenue)
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไต
- โรคตับ
- โรคประสาท (Psychiatric IIness)
- โรคตาบอดสี, สายตาสั้น (ต้องไม่เกิน 400)
- โรคหูตึง
- โรคเลือด
ประเทศมาเลเซีย (Malaysia)
- โรคเอดส์ (HIV)
- วัณโรค
- โรคเรื้อน
- กามโรค
- โรคลมบ้าหมู ลมชัก (Epilepsy)
- โรคประสาท (Psychiatric IIness)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- ผลการตรวจเลือดพบ HIV Antibody (Elisa), HbsAg หรือ VDRL/TPHA
- ติดยาเสพติด (Opiates/Cannabis)
- การตั้งครรภ์ (จะต้องมีการตรวจร่างกายคนงานหญิงทุกคนที่จะเข้าไปทำงาน)
ประเทศบรูไน (Brunei)
- วัณโรค
- กามโรค
- โรคเอดส์ (HIV)
- โรคลมบ้าหมู ลมชัก (Epilepsy)
- โรคประสาท (Psychiatric IIness)
- โรคไวรัสตับอักเสบ B และ C
- การใช้ยาเกินขนาดเพื่อกระทำอัตวินิบาตกรรม (History of drug abuse)
- โรคความดันสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคหอบหืด
- โรคมะเร็ง
- โรคหัวใจ
ประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย
- โรคเอดส์ (HIV)
- วัณโรค
- โรคเรื้อน
- โรคซิฟิลิส
สถานที่ตรวจสุขภาพก่อนไปทำงานต่างประเทศ
- โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยถือเป็น 1 ใน 4 สถานพยาบาลในกรุงเทพฯ ที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถตรวจสุขภาพ และออกใบรับรองการตรวจสุขภาพได้ทุกประเทศทั่วโลก จึงสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุมไม่ว่าท่านจะต้องการเดินทางไปประเทศใดๆ ก็ตาม โดยทางโรงพยาบาลได้จัดตั้งคลินิกตรวจสุขภาพขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ที่มารับบริการได้รับความสะดวกและรวดเร็ว
ตั้งอยู่ที่ 1873 ถนนพระรามที่ 4 แขวงปทุมวัน
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 โทร.02 256 4000
- ศูนย์ตรวจสุขภาพเพื่อเดินทางไปต่างประเทศ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ศูนย์บริการทางการแพทย์โรงเรียนเรวดี
ตั้งอยู่ที่ 108 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โทร.09 1774 6463 06 4585 0941 และ 06 4585 0940
- ศูนย์ตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ
อาคาร 4 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 2312,2315
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติม
รู้เท่าทัน ป้องกัน ลดเสี่ยงเป็นโรคเอดส์
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- ก่อนไปทำงานต่างประเทศ การตรวจร่างกาย…คือสิ่งสำคัญ! https://www.phyathai.com/article_detail/2378/th/ก่อนไปทำงานต่างประเทศ_การตรวจร่างกาย…คือสิ่งสำคัญ!
- ตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ https://www.paolohospital.com/th-TH/chokchai4/Clinic/Details/ตรวจสุขภาพไปทำงานต่างประเทศ
- โปรแกรมตรวจสุขภาพสำหรับไปต่างประเทศ https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/aboard-checkup/
- โรคต้องห้ามของแต่ละประเทศ https://www.rama.mahidol.ac.th/goabroad/th/knowledge/13aug2019-1445
- รวมทุก [โรคต้องห้าม] ในการทำงานไปต่างประเทศ โดยกรมจัดหางานกระทรวงแรงงาน #ข้อมูลปี 2021 https://japan-dream-jobs.com/th/3991/